แพทย์ชี้ “โมโห” ทำให้ปอดเสื่อมเร็วขึ้น

แพทย์อังกฤษเผยผลวิจัย คนเจ้าอารมณ์ต้องระวังให้มาก ใครขี้โมโหเสี่ยงเป็นโรคเกี่ยวกับปอด
ผลสำรวจยันทุกๆ อารมณ์ฉุนเฉียวที่มากขึ้น อากาศที่ขับออกจากปอดจะลดน้อยลง 9 ม.ล.
วารสารโธร็อกซ์ ของสมาคมแพทย์อังกฤษ เผยแพร่ผลการวิจัยของทีมแพทย์จากมหาวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ด
ในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเสตส์ สหรัฐอเมริกา ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2529 จากการศึกษาสุขภาพของชายวัยกลางคน จำนวน 670 คน
อายุระหว่าง 45-86 ปี มีอายุเฉลี่ยประมาณ 62 ปี
โดยแพทย์ได้ทำการวัดระดับของอารมณ์ความเกลียดชังด้วยวิธีที่เรียกว่า "คุ้ก
เมดลีย์ สเกล" และวัดกำลังของปอดด้วยการวัดปริมาณของอากาศที่ถูกขับออกมาในแต่ละวินาที
เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินการทำงานของปอด โดยจัดให้มีการทดสอบอาสาสมัครเหล่านี้ทุกๆ
8.2 ปีโดยประมาณ ทั้งหมด 3 ครั้งด้วยกัน
หลังจากตัดปัจจัยอื่นๆ ที่จะทำให้ปอดเสื่อมเร็วขึ้น เช่น
การสูบบุหรี่ออกไป นักวิจัยพบว่าอารมณ์โมโหก็จะส่งผลต่อการทำงานของปอดเช่นกัน เนื่องจากอัตราการเกิดความเกลียดชังใกล้เคียงกับความสามารถในการทำงานของปอด
โดยผู้ที่มีความเกลียดชังหรือโมโหมาก การทำงานของปอดก็จะลดลงมากกว่าอาสาสมัครคนอื่นๆ
ที่อารมณ์ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงหรือมองโลกในแง่ดีมากกว่า โดยทุกๆ ระดับของอารมณ์ที่ฉุนเฉียวมากขึ้น
จะทำให้อากาศที่ขับออกมาจากปอดน้อยลงไป 9 มิลลิลิตร
ก่อนหน้านี้ได้มีการสำรวจพบว่า
อารมณ์เกลียดชังและโมโหมีผลเกี่ยวเนื่องกับการเกิดโรคหัวใจ โรคหืดหอบ ความดันโลหิตสูง
และโรคอื่นๆ อีกมาก อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการพบสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิดโรค
โดยทฤษฎีหนึ่งระบุว่า การโมโหหรือเกลียดชังจะส่งผลกับกระบวนการผลิตฮอร์โมนในร่างกาย
ซึ่งจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในตัวคนมีปัญหา ทำให้เกิดการติดเชื้อเรื้อรัง ส่งผลให้เนื้อเยื่อถูกทำลาย
|