สัตว์บำบัด (Animal Therapy)

 

 

การรักษาโรคในปัจจุบันมีวิธีการแตกต่างกันไป ทั้งการรักษาโรคชนิดเดียวกัน หรือต่างชนิด ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล เนื่องจากความแตกต่างหลากหลายนี้เอง ทำให้เกิดการรักษาแบบทางเลือกที่ให้ผลดีไปไม่น้อยกว่าการรักษาแบบปกติ

และการใช้วิธี สัตว์บำบัด หรือ Animal Therapy ก็เป็นอีกหนึ่งการแพทย์ทางเลือกเลือก ที่ได้รับความสนจากทางซีกโลกตะวันตกมากขึ้น ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ให้เกิดคุณประโยชน์ต่อการบำบัดผู้ป่วยโรคต่าง ๆ เช่น ช่วยด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคทางจิตเวช เด็กออทิสติก ช่วยบำบัดโรคภัยที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เป็นต้น

จริง ๆ แล้ว การใช้สัตว์บำบัดนั้น ถือเป็นวิธีหนึ่งของการแพทย์แผนโบราณที่นำมาใช้ในการรักษา และบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บได้ เช่น การใช้ปลิงดูดเลือดช่วยรักษาอาการเลือดแข็งตัวผิดปกติภายหลังการผ่าตัด การใช้หนอนแมลงวันทำความสะอาดแผลเน่า เป็นต้น

โรคบางประเภทเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ก็มีการนำสัตว์มาช่วยในการรักษาทางการแพทย์เช่นเดียวกัน โดยการนำเอาปลาเงิน ปลาทอง มาช่วยคลาดเครียดให้กับผู้ป่วยในสหรัฐ ที่ตุรกีก็มีการทดลองนำปลา สไตรเกอร์ และลิกเกอร์มาช่วยรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน โดยปล่อยลงในอ่างน้ำแร่กลางแจ้งตามอุณหภูมิที่ควบคุม และให้ปลาแทะบริเวณที่เป็นผื่นคันของผู้ป่วยให้ค่อย ๆ หลุดออกไป

คล้าย ๆ กับที่จังหวัดกาญจนบุรีบ้านเรา ก็มีการรักษาด้วยสัตว์บำบัดด้วยเช่นกัน แต่ของเราใช้ปลาหมอนับหมื่นตัวปล่อยลงบ่อน้ำพุร้อน ซึ่งปลาหมอเหล่านี้ได้รับการฝึกจนสามารถตอดกินเซลล์ผิวหนังที่เสื่อมสภาพหรือผิวที่เป็นสะเก็ดเงินออกไปได้ และยังช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นด้วย

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น นั่นเป็นเพียงการใช้ สัตว์บำบัด รักษาโรคภัยจากภายนอกเท่านั้น ยังมีการรักษาอีกรูปแบบหนึ่ง ที่น่าสนใจ นั่นคือการบำบัดรักษาทางด้านจิตใจ หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านจิตเวช

ลองนึกถึงเวลาที่เราดูโชว์การแสดงของสัตว์ หรือแม้แต่การที่เราได้เล่นกับสัตว์ของเรา ทั้งสุนัข แมว กระต่าย หรือแม้แต่หนูตัวเล็ก สามารถทำให้เรารู้สึกเพลิดเพลิน บำบัดความทุกข์ที่เรามีอยู่ให้จางลงได้ สุขภาพจิตดีขึ้น เพราะความน่ารักน่าเอ็นดู ความสบายใจจากการแสดงออกอย่างใสซื่อของสัตว์ จึงสามารถช่วยบำบัดความเครียดได้

ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการศึกษานำสัตว์มาใช้ในการบำบัดรักษาผู้ที่ประสบปัญหาด้านจิตเวช หรืออย่างน้อย ก็นำมาเพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจในช่วงที่ร่างกายเจ็บป่วย ให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น

ยกตัวอย่าง คนสูงอายุหรือคนป่วยที่มีปัญหาด้านกล้ามเนื้อ เมื่อได้เล่นกับสัตว์เลี้ยงหรือสัมผัสด้วยการแปรงขน ให้อาหาร หรือจูงสัตว์เลี้ยงเดินเล่น ก็เป็นการฝึกพัฒนาการของกล้ามเนื้อไปพร้อมกับการบำบัดจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด แม้แต่คนไข้ที่ป่วยหนักลุกจากเตียงไม่ได้ การได้เห็นหรือสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงตัวโปรด จะช่วยให้ลืมความเจ็บปวดจากโรคร้ายและยืดเวลาการอยู่บนโลกนี้ให้นานขึ้น

สำหรับประเทศไทย สัตว์บำบัด ยังถือเป็นเรื่องใหม่ของวงการแพทย์ทางเลือกของไทย ถึงแม้จะยังไม่มีหน่วยงานดูแลและพัฒนาการบำบัดแบบนี้อย่างชัดเจน แต่ก็มีหลายหน่วยงานได้เลือกนำไปใช้รักษาบ้างแล้ว อย่างเช่นที่ สถาบันราชานุกูลและบ้านพักคนชรา มีการทดลองใช้สัตว์เลี้ยงบำบัดกับผู้ป่วยทางจิตและคนชรา หน่วยงานตำรวจใช้ม้าในการบำบัดเด็กพิเศษหรือออทิสติก หรือที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท เลือกใช้สุนัขในการบำบัดคนชรา โรงพยาบาลกรุงเทพก็ใช้สุนัขมาช่วยบำบัดรักษาผู้ป่วยอัมพฤกษ์-อัมพาต ในการขยับแขนหรือขา เช่น การโยนของไปแล้วให้สุนัขวิ่งไปคาบกลับมา การลูบคล้ำ เป็นต้น ซึ่งการรักษาด้วยวิธีการเหล่านี้นอกจากช่วยบำบัดด้านกายภาพได้แล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยมีอารมณ์แจ่มใสขึ้นด้วย

 

แต่สำหรับคนธรรมดา ที่ไม่ได้เจ็บป่วยอะไร ก็สามารถมีสัตว์เลี้ยงแสนรักไว้ซักตัว ไว้เป็นเพื่อนบำบัดจิตใจ คลายทุกข์ได้เหมือนกัน


เรียบเรียงโดย Never-Age.com