วัยรุ่น: การฆ่าตัวตาย Suicide

 

 

     การฆ่าตัวตายสำเร็จ (completed suicide) หมายถึง การตั้งใจทำร้ายตนเองด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งเป็นผลให้ตัวเองตาย
ส่วนการพยายามฆ่าตัวตาย (attempted suicide) หมายถึง การทำร้ายตนเองแต่ไม่ตาย เด็กที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ และเด็กที่พยายามฆ่าตัวตายไม่สำเร็จ มีลักษณะบางอย่างคล้ายคลึงกัน แต่บางอย่างแตกต่างกัน

     อย่างไรก็ตามเด็ก 2 กลุ่มนี้มีความสัมพันธ์กัน มีการศึกษาพบว่า 1 ใน 3 ของเด็กที่ฆ่าตัวตายสำเร็จเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน หรือกล่าวได้ว่าเด็กที่พยายามฆ่าตัวตายเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายสำเร็จ

 

     จากการศึกษาพบว่า ความคิดที่จะฆ่าตัวตาย (suicide ideation) พบบ่อยในวัยรุ่น ส่วนการพยายามฆ่าตัวตาย แม้จะพบน้อยกว่าแต่ก็เป็นปัญหา การสำรวจนักเรียนอายุ 14-17 ปี โดย The Centers for Disease Control ในสหรัฐอเมริการพบว่าในระยะเวลา 1 ปีก่อนการสำรวจ ร้อยละ 8.3 พยายามที่จะทำ และร้อยละ 2 พยายามทำจนต้องเข้ารับการรักษา รายงานจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาในปี 1988 พบว่าอัตราของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่พยายามฆ่าตัวตาย จากเด็กที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเท่ากับร้อยละ 0.2 การศึกษาอัตราการพยายามฆ่าตัวตายแบบ lifetime rate พบอัตราระหว่างร้อยละ 2-8 ในเด็กอายุ 12-18 ปี

 

ลักษณะของเด็กที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ

 

     วัยรุ่นมีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าเด็ก เด็กและวัยรุ่นชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าเด็กและวัยรุ่นหญิง วิธีการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นชายมักทำโดยการยิงตัวตัวตายหรือการแขวนคอ ซึ่งรุนแรงกว่าการกินยาหรือกระโดดตึกซึ่งมักทำโดยวัยรุ่นหญิง เหตุกระตุ้นให้เด็กและวัยรุ่นฆ่าตัวตายสำเร็จ ได้แก่ การถูกจับว่าทำความผิดหรือโดนคาดโทษ การถูกดูถูกหรือเยาะเย้ยจากเพื่อน การทะเลาะหรือการถูกตัดสัมพันธ์จากคู่รัก ความไม่เข้าใจในครอบครัว ปัญหาที่โรงเรียน และการได้ยินหรือเห็นคนใกล้ชิดหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือตัวละครทางโทรทัศน์ฆ่าตัวตายสำเร็จ อย่างไรก็ตาม เด็กและวัยรุ่นส่วนหนึ่ง เป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายโดยไม่มีเหตุกระตุ้น

 

     ปัจจัยเกี่ยวกับตัวเด็กและครอบครัวที่มีการศึกษา พบว่าเกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายสำเร็จ ได้แก่การขาดเรียน การที่เด็กมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคทางจิตเวช โดยเพาะโรคจิต การที่เด็กเองเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีความประพฤติผิดปกติ มีอาการท้อแท้สิ้นหวัง มีการวางแผนล่วงหน้าที่จะฆ่าตัวตาย เช่น เก็บสะสมยา ทิ้งจดหมายลาตาย หรือยกสมบัติให้คนอื่น มีการศึกษาพบว่าครึ่งหนึ่งของเด็กที่ฆ่าตัวตายสำเร็จเคยบอกหรือขู่ว่าจะฆ่าตัวตายภายใน 1 วันก่อนการตาย นอกจากนั้น ร้อยละ 50 ของวัยรุ่นหญิงและร้อยละ 25 ของวัยรุ่นชายที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ เคยพยายามที่จะฆ่าตัวตายมาก่อน

 

ลักษณะของเด็กที่พยายามฆ่าตัวตาย

 

     ความคิดและการพยายามฆ่าตัวตายพบน้อยในเด็กก่อนวัยรุ่น และพบมากขึ้นอย่างชัดเจนในวัยรุ่น อัตราของการพยายามฆ่าตัวตายในวัยรุ่นหญิงสูงกว่าวัยรุ่นชายประมาณ 3-7 เท่า ความเสี่ยงต่อการมีความคิดและการพยายามฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ในเด็กวัยรุ่นที่มาจากครอบครัวที่เศรษฐานะไม่ดี วิธีที่เด็กและวัยรุ่นส่วนใหญ่นิยมใช้ในการพยายามฆ่าตัวตาย คือ การกินยาแก้ปวดหรือยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ร้อยละ 30-50 ของเด็กหรือวัยรุ่นที่พยายามฆ่าตัวตาย มีความตั้งใจจริงที่จะตายหรืออย่างน้อยก็ไม่ใส่ใจว่าจะอยู่หรือตาย อย่างไรก็ตาม เด็กหรือวัยรุ่นส่วนใหญ่ที่พยายามฆ่าตัวตายมีความรู้สึกดีใจที่ไม่ตายและปฏิเสธความตั้งใจจริงที่จะตาย

 

     เหตุกระตุ้นให้วัยรุ่นพยายามฆ่าตัวตายที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ ความขัดแย้งกับผู้อื่น เช่น ครอบครัว หรือเพื่อน เหตุกระตุ้นอื่นได้แก่ ปัญหาที่โรงเรียน การถูกอบรมสั่งสอนหรือลงโทษ การขาดเพื่อนหรือการถูกปฏิเสธไม่ยอมรับ หรือถูกทำให้เสียหน้า ปัญหาการติดยาเสพติดหรือเหล้า การ๔ุกกระทำทารุณทั้งการถูกทำร้ายร่างกายและถูกล่วงเกินทางเพศ การสูญเสียบุคคลที่รัก ปัญหาสุขภาพ เช่น เป็นโรคร้ายแรง การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ การที่สมาชิกในครอบครัว คนใกล้ชิดหรือได้ยินได้เห็นบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือตัวละครในโทรทัศน์ พยายามฆ่าตัวตาย อย่างไรก็ตาม 1 ใน 3 ของวัยรุ่นที่พยายามฆ่าตัวตายไม่มีเหตุผลกระตุ้น ซึ่งมักจะพบในวัยรุ่นที่เป็นโรคซึมเศร้า มีรายงานว่าเด็กวัยรุ่นที่พยายามฆ่าตัวตาย มีอัตราการเป็นโรคซึมเศร้าสูง 3-18 เท่าของเด็กปกติ การศึกษาพบว่า เด็กวัยรุ่นที่พยายามฆ่าตัวตายมีปัญหาความก้าวร้าว อารมณ์โกรธรุนแรงและพฤติกรรมต่อต้านสังคมเท่ากับหรือมากกว่าปัญหาซึมเศร้า โดยพบความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงของอารมณ์โกรธกับความรุนแรงของการพยายามฆ่าตัวตายและมีโอกาสที่จะพยายามฆ่าตัวตายซ้ำอีกในอนาคต นอกจากนี้มีรายงานว่า ร้อยละ 13-42 ของเด็กวัยรุ่นที่พยายามฆ่าตัวตายติดยาเสพติดหรือเหล้า โดยร้อยละ 5-11 ใช้เหล้าหรือยาเสพติดในขณะพยายามฆ่าตัวตาย

 

     โดยทั่วไป วัยรุ่นที่พยายามฆ่าตัวตายอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มหนึ่งมีอาการซึมเศร้า ท้อแท้ สิ้นหวัง มีความตั้งใจที่จะฆ่าตัวตายสูง และวางแผนที่จะฆ่า อีกกลุ่มหนึ่งเป็นวัยรุ่นที่มีปัญหาการปรับตัวและปัญหาความประพฤติ ไม่มีอาการท้อแท้สิ้นหวัง แต่พยายามฆ่าตัวตายในลักษณะหุนหันพลันแล่นและขาดความยั้งคิด มีการศึกษาเกี่ยวกับวิธีคิดและการแก้ปัญหาของวัยรุ่นที่พยายามฆ่าตัวตายพบว่า การแก้ปัญหาไม่ได้และท้อแท้สิ้นหวังอาจเป็นอาการหนึ่งของของภาวะซึมเศร้า แต่ก็พบว่าเด็กที่พยายามฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ไม่มีความยืดหยุ่นในการแก้ปัญหา มองปัญหาในแง่ร้าย หมกมุ่นคิดถึงแต่ปัญหา และคิดฝันจะให้ปัญหาหมดไปเอง โดยไม่พยายามหาวิธีหลายๆ ทางที่จะแก้ปัญหา

 

     ปัจจัยทางครอบครัวของเด็กและวัยรุ่นที่พยายามฆ่าตัวตายได้แก่ ครอบครัวแตกแยก ขาดพ่อหรือแม่ ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี สมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า บุคลิกภาพผิดปกติ ครอบครัวขาดความสม่ำเสมอในการฝึกระเบียบเด็ก ในลักษณะที่บางครั้งปล่อย บางครั้งเข้มงวด ครอบครัวขาดการสื่อสารกันในด้านความคิดและความรู้สึก ครอบครัวทารุณเด็ก และครอบครัวมีความคาดหวังในตัวลูกหรือบังคับลูกมากเกินไป

 

สาเหตุของการฆ่าตัวตาย

 

การศึกษาหลายการศึกษาพยายามหาสาเหตุของการฆ่าตัวตายจากหลายแง่มุมประกอบด้วย

1.   ประวัติครอบครัว การศึกษาเปรียบเทียบวัยรุ่นที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ กับกลุ่มควบคุมในนิวยอร์คพบว่า ครึ่งหนึ่งของวัยรุ่นที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ มีญาติใกล้ชิด ( fiest-degree relative) มีประวัติเคยพยายามฆ่าตัวตายหรือฆ่าตัวตายสำเร็จ การศึกษาเพิ่มเติมในฝาแฝดและบุตรบุญธรรมพบว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม

2.   การเลียนแบบ ข่าวหรือเรื่องราวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายอาจชักชวนให้เด็กหรือวัยรุ่นเลียนแบบพฤติกรรมฆ่าตัวตายในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ได้ยินหรือได้อ่าน การศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบการระบาดของการฆ่าตัวตายในลักษณะนี้ถึงร้อยละ 4 ของการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นและคาดการณ์ว่าจะมีอุบัติการสูงขึ้น

3.   ความผิดปกติทางชีวะภาพ การศึกษาเปรียบเทียบคนที่พยายามฆ่าตัวตายและฆ่าตัวตายสำเร็จกับกลุ่มควบคุม พบว่าในกลุ่มคนที่พยายามฆ่าตัวตายและฆ่าตัวตายสำเร็จมีระดับ 5-HIAA( serotonin metabolites) ในน้ำไขสันหลังต่ำกว่ากลุ่มควบคุม นอกจากนั้น การศึกษาเพิ่มเติมพบว่า ในผู้ใหญ่ที่พยายามฆ่าตัวตายที่ระดับ 5-HIAA ในน้ำไขสันหลังมีค่าต่ำกว่า 90 มก./มล. มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ใน 1 ปีถึงร้อยละ 21 เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราเพียงร้อยละ 2 ในคนพยายามฆ่าตัวตายที่มีระดับ 5-HIAA สูงกว่านี้

4.   ปัญหาหรือความผิดปกติขณะคลอด การศึกษาจากประวัติผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกาพบว่า คนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมีปัญหาหรือความผิดปกติขณะคลอดสูงเป็น 3 เท่าของกลุ่มควบคุม

5.   ความผิดปกติทางจิตเวช การฆ่าตัวตายสำเร็จพบน้อยในคนที่ไม่มีพยาธิสภาพทางจิต การศึกษาติดตามผู้ป่วยจิตเวชพบมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูง ในทำนองเดียวกัน การศึกษาเปรียบเทียบคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จกับกลุ่มควบคุม พบว่าคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมีความชุกของโรคทางจิตสูงกว่า ซึ่งพบถึง 2 ใน 3 ในทั้ง 2 เพศ นอกจากนั้น ครึ่งหนึ่งของคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จเคยไปตรวจกับจิตแพทย์หรือบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับการวินิจฉัยเป็นความผิดปกติแบบวิตกกังวล ซึ่งพบเท่ากันในเพศหญิงและเพศชาย ความประพฤติผิดปกติและการติดสารเสพติด ซึ่งพบมากในชาย และโรคซึมเศร้าซึ่งพบมากในเพศหญิง

6.   สภาพครอบครัว การศึกษาในนิวยอร์ค พบว่าอัตราของเด็กที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ อาศัยอยู่กับพ่อแม่น้อยกว่าเด็กในกลุ่มควบคุม( ครึ่งหนึ่ง เทียบกับ 2 ใน 3 ) และการสื่อสารในครอบครัวเป็นปัญหาสำคัญ

     กล่าวโดยสรุปได้ว่า การฆ่าตัวตายเกิดขึ้นในบุคคลที่มีความเสี่ยง เช่น เป็นโรคซึมเศร้า มีปัญหาบุคลิกภาพ โดยบุคคลที่มีความเสี่ยง พยายามฆ่าตัวตาย หรือฆ่าตัวตายสำเร็จหลังจากที่มีเหตุการณ์เครียดก่อให้เกิดอารมณ์กลัว ไม่สบายใจ ท้อแท้สิ้นหวัง หรือโกรธ ซึ่งสภาพจิตเหล่านี้ทำให้การตัดสินใจเสียไป โดยเฉพาะถ้ามีการใช้สารเสพติด เช่น เหล้าหรือยาเสพติด หรือได้ดูภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ที่มีบุคคลฆ่าตัวตายให้เห็นร่วมด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การพยายามฆ่าตัวตายและการฆ่าตัวตายสำเร็จมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากถ้ามียา อาวุธหรือวิธีที่จะทำได้ง่ายๆใกล้ตัว

 

การช่วยเหลือ

     การช่วยเหลือและการรักษาเด็กที่พยายามฆ่าตัวตาย เริ่มต้นด้วยการตรวจประเมินที่ดี เพื่อเข้าใจปัญหาและสาเหตุการพยายามฆ่าตัวตาย ประเมินความเสี่ยงที่จะทำซ้ำ และเลือกวิธีรักษาที่ถูกต้อง การตรวจประเมินควรทำอย่างรวดเร็วที่สุด ภายหลังจากที่อาการทางร่างกายของเด็กไม่เป็นปัญหาต่อการสัมภาษณ์ ควรสัมภาษณ์เด็กและวัยรุ่น พ่อแม่ เพื่อน หรือผู้รู้เหตุการณ์ทั้งแบบเดี่ยวและแบบรวมพร้อมกัน ข้อมูลที่จำเป็นต้องถามประกอบด้วย รายละเอียดของการพยายามฆ่าตัวตาย วิธีที่ใช้ ความตั้งใจที่จะตาย เหตุกระตุ้น ปัญหาอารมณ์และพฤติกรรม ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความช่วยเหลือที่ได้รับจากคนรอบข้างและการเปลี่ยนแปลงของปัญหาหลัวจากการพยายามฆ่าตัวตาย การตรวจสภาพจิตควรทำโดยละเอียดและถามถึงความคิดและความตั้งใจที่จะฆ่าตัวตายในขณะตรวจ ความเสี่ยงที่จะทำซ้ำมีมากในรายที่เด็กใช้วิธีรุนแรงในการพยายามฆ่าตัวตายยังไม่ไหมดไป และขาดการช่วยเหลือประคับประคองจากคนรอบข้าง

 

     การช่วยเหลือรักษาเด็กที่พยายามฆ่าตัวตายมีหลายวิธี ประการแรก หลังจากตรวจประเมินเด็กแล้ว จะต้องตัดสินใจว่าจำเป็นต้องให้เด็กเข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลหรือสามารถนัดมาตรวจรักษาแบบผู้ป่วยนอก ควรรับไว้ในโรงพยาบาลเมื่อมีการใช้วิธีรุนแรงในการพยายามฆ่าตัวตาย มีประวัติคิดฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตายซ้ำๆ มีอาการซึมเศร้า อาการของโรคจิต หรือติดเหล้าและยาเสพติด ขาดผู้ใหญ่หรือคนใกล้ชิดดูแลระมัดระวังเกี่ยวกับความปลอดภัยในการจะฆ่าตัวตายซ้ำ เช่น การเก็บยา ของมีคมและอาวุธ อย่างไรก็ตาม แม้แต่ในกรณีที่ไม่ได้รับเด็กเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ผู้รักษาควรให้เด็กรับปากและสัญญาว่าจะไม่ทำแบบเดียวกันอีก ก่อนวันนัดพบที่ผู้ป่วยนอก ให้ดูแลระมัดระวังเกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็กเท่าที่ทำได้ รวมทั้งแนะนำว่าถ้ามีปัญหารีบด่วนให้รีบมาโรงพยาบาลทันที

 

     การช่วยเหลือรักษาเด็กที่พยามฆ่าตัวตายมีหลายวิธี ซึ่งควรเลือกใช้ตามลักษณะเด็กแต่ละราย การใช้หลักของการแก้ไขปัญหาในระยะวิกฤตเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากปัญหามักเกิดขึ้นฉับพลันและเด็กหลายรายไม่มาตรวจรักษาตามนัดในระยะเวลา การช่วยเหลือทางจิตใจและการพยายามติดตามการรักษา เช่น การติดต่อทางโทรศัพท์ การนัดมาพบแพทย์เป็นระยะๆ มีผลในการลดปัญหาและการพยายามฆ่าตัวตายซ้ำ การรักษาแบบใช้เทคนิคการเปลี่ยนวิธีคิดและสอนการแก้ปัญหาทั้งแบบตัวต่อตัวและทั้งครอบครัว โดยเน้นข้อดีที่มีอยู่และการทำสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ดี ได้ผลดีในการลดความขัดแย้ง การโทษกันและความคิดในทางลบ ครอบครัวบำบัด มีความสำคัญในรายที่เหตุกระตุ้นเกิดความขัดแย้งในครอบครัว การช่วยให้ครอบครัวมีการสื่อสารที่ดี รับรู้ความคิด อารมณ์และปัญหาของสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งหาแนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงที่สมาชิกในครอบครัวจะคิดหรือพยายามฆ่าตัวตายซ้ำ นอกจากนั้น การช่วยเหลือรักษาโดยวิธีอื่น เช่น กลุ่มบำบัด และการใช้ยามีการใช้น้อย เนื่องจากปัญหาการเลียนแบบจากเด็กอื่นในกลุ่ม และการใช้ยาเป็นเครื่องมือในการฆ่าตัวตายตามลำดับ

 

กรณีศึกษา

     เด็กผู้หญิงอายุ 14 ปี แม่และน้าสาวพาส่งโรงพยาบาล ด้วยอาการหมดสติหลังจากกินยาแก้เมารถไปจำนวน 60 เม็ด กุมารแพทย์ได้ให้ความช่วยเหลือทางร่างกาย เมื่อสัมภาษณ์เด็ก ได้ประวัติว่า 2 วันก่อนกินยา เด็กถูกน้าชายซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับแม่ข่มขืนขณะที่เด็กทำความสะอาดในบ้านน้าสาว เด็กคิดมาก ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป จึงไปซื้อยามากิน เพื่อจะได้หลับและไม่ต้องรับรู้อะไร โดยไม่สนใจว่าตัวเองจะตายหรือไม่ การตรวจสภาพจิตพบว่า เด็กรู้สึกเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น คิดว่าคงแก้ไขอะไรไม่ได้ และไม่ได้เล่าเรื่องนี้ให้แม่หรือใครฟัง เมื่อทราบว่าแพทย์ช่วยให้รอดชีวิตก็รู้สึกเฉยๆ ไม่ดีใจหรือเสียใจ แต่ก็ไม่มีความคิดที่จะทำซ้ำแบบเดิมอีก ขณะตรวจ เด็กรู้สึกสับสนกับเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่อยากรับรู้หรือนึกถึง เล่าเรื่องได้ไม่ต่อเนื่องกัน และยังตัดสินใจไม่ได้ว่าควรจะเล่าให้แม่หรือน้าสาวฟังหรือไม่ แต่มีแนวโน้มที่จะไม่เล่า เพราะคิดว่าเล่าแล้วคงไม่มีประโยชน์ เพราะไม่มีใครช่วยเหลือหรือแก้ไขได้

 

      การสัมภาษณ์แม่พบว่ามีความรู้สึกงง แปลกใจ ไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้น แต่รู้ว่าลูกสาวกินยาเพื่อฆ่าตัวตาย เมื่อพบจดหมายที่เด็กเขียนทิ้งไว้ให้แม่เพียงแต่ว่า ขอหลับไป 2-3 วันหรือตลอดไป และเมื่อรู้เรื่องก็ตกใจและเสียใจจนเป็นลม ผู้รักษาได้นำเด็กและแม่มาพบพร้อมกับชี้ให้เห็นถึงความห่วงใยของแม่ และแพทย์ช่วยเหลือในการสื่อสารจนเด็กเล่าเรื่องทั้งหมดให้แม่ฟัง ผู้รักษาให้โอกาสแม่และเด็กแสดงความโกรธและความเสียใจ พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือประคับประคองทางจิตใจร่วมกับแนะนำแม่และเด็กในการระมัดระวังตัวในอนาคตหลังออกจากโรงพยาบาล แม่และเด็กมาตรวจติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ เด็กได้รับจิตบำบัดอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขผลกระทบจากการถูกล่วงเกินทางเพศ ส่งเสริม การปรับตัวและป้องกันปัญหาการพยายามฆ่าตัวตายและปัญหาอื่นในอนาคต

 

 

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
ปรับปรุงครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2546