ปัญหาอารมณ์: ความก้าวร้าว

 

 

     สตอรร์ กล่าวว่า แรงขับก้าวร้าว (aggressive drive) มีความจำเป็นต่อชีวิตเพราะทำหน้าที่พื้นฐานทางชีววิทยา เพื่อสงวนและดำรงไว้ซึ่งชีวิตของบุคคลและเผ่าพันธุ์มนุษยชาติ ไม่แตกต่างจากสัญชาตญาณทางเพศ (sexual instinct) ไม่จำเป็น, ไม่ควร และ เป็นไปไม่ได้ ที่จะขจัดความก้าวร้าวในรูปแบบที่เหมาะสมออกไปจากชีวิตมนุษย์โดยสิ้นเชิง เพราะนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่มีติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิดแล้ว ความก้าวร้าวในมนุษย์ยังเป็นลักษณะที่มีค่ายิ่งทางชีววิทยา เช่นเดียวกับความก้าวร้าวในสัตว์ชนิดอื่น ความก้าวร้าวในธรรมชาติมีไว้ป้องกันตนเอง เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ มากกว่า เพื่อทำลาย สิ่งที่ควรขจัดไม่ใช่ความก้าวร้าว แต่เป็น การทำลายเยี่ยงศัตรูในลักษณะของ ความรุนแรง” (violence)

 

     ถ้าเรานึกถึงความก้าวร้าวในแง่สัญลักษณ์ของความชั่วร้ายเพียงประการเดียว เราก็จะกดเก็บไว้โดยสิ้นเชิง ซึ่งจะยิ่งทำให้แปรออกในรูปอื่นมากขึ้น โดยการใช้จิตกลไกต่าง ๆ เช่น ออกในรูปของความเศร้า เพราะใช้จิตกลไกชนิดหันเข้าหาตน (introjection) หรือ ออกเป็นอาการทางจิตสรีรวิทยา (psychophysiologic) จนเกิดอาการทางกายต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เกิดผลเสียทั้งสิ้น

     ประวัติจากวัยเยาว์ จนถึงอายุ 19 ปี จากเอกสารรายงาน เอฟ.บี.ไอ และ รายงานจากคุกแสดงชัดเจนว่า นักโทษชาย 10 คน ที่มีประวัติก่อคดีร้ายแรงกว่า และก้าวร้าวมากกว่าเมื่อครั้งที่เขาอยู่ในวัยรุ่น มีระดับเทสโทสตีโรนสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติซึ่งเป็นการแสดงว่า เทสโทสตีโรนอาจมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงทางอาชญากรรมในวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น

     เมื่อกล่าวถึงความก้าวร้าวในทางทำลาย คนทั่วไปมักนึกถึงการทำลายผู้อื่นหรือสิ่งอื่นเสมอ ซึ่งเป็นลักษณะที่ก้าวร้าวพุ่งออกสู่ภายนอก แต่แท้จริงความก้าวร้าวอาจหันกลับเข้าหาบุคคลนั้นเองหรือพุ่งหาตนก็ได้ ทำให้คนนั้นเกิดอาการซึมเศร้า ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงขั้นฆ่าตัวตาย ซึ่งก็คือ การก้าวร้าวอย่างทำลายเช่นกัน คือ ทำลายตนเอง

 

ความก้าวร้าวชนิดทำลายตนเองที่พบบ่อยตามหน้าหนังสือพิมพ์ มักเกิดในหนุ่มสาวหรือวัยรุ่น ซึ่งผิดหวังในความรักแล้วยิงตัวตาย หรือกินยาตาย

 

     นักจิตวิเคราะห์หลายคน รวมทั้งสตอรร์ กล่าวว่า ความนับถือและความภูมิใจในตน (self-esteem) ของมนุษย์เรานี้ ส่วนใหญ่ได้มาแต่วัยเด็ก ถ้าหากมีปัญหาทางอารมณ์ในวัยเด็ก ซึ่งขัดขวางไม่ให้พัฒนาการไปจนถึงระยะความเป็นชายหรือหญิงได้อย่างสมบูรณ์ พอที่จะสามารถรักใครและมีใครรักได้ เขาผู้นั้นก็จะขาดบ่อเกิดของความนับถือและภูมิใจในตน

 

ความรักนี้สำคัญยิ่งนักที่จะทำให้คนเราเกิดความนับถือและภูมิใจในตน

     ฉะนั้น เมื่อผิดหวังในความรัก เขาผู้นั้นจึงรู้สึกเหมือนตนถูกโจมตีอย่างหนัก คนที่ขาดความมั่นคงทางใจจะพึ่งพาผู้อื่นมากกว่า และมีปฏิกิริยาต่อการถูกปฏิเสธความรักในทางเพศรุนแรงกว่าคนปกติ ซึ่งได้ความนับถือและภูมิใจในตนมาเพียงพอแล้วจากความรักของบิดามารดา คนเหล่านี้แม้จะถูกทำให้ช้ำใจและโกรธเพราะ ถูกปฏิเสธรัก ก็จะสามารถปรับจิตใจให้กลับคืนสู่สภาพปกติและหาคู่ใหม่ได้ คนที่รู้สึกว่าตนไม่มีใครรัก และไม่มีใครต้องการเท่านั้น ที่จะรู้สึกว่าทนถูกปฏิเสธหรือถูกรังเกียจไม่ได้ และจะรุนแรงก้าวร้าวกับตนเอง หรือกับคู่ของตน จนถึงกับยิงคู่รักแล้วยิงตัวตา

     ในที่สุด ความก้าวร้าวอย่างทำลายก็หนีไม่พ้นเรื่องของการขาดความรักจากบิดามารดาแต่เยาว์วัย สตอรร์กล่าวว่า ไม่น่าเป็นไปได้ ที่จะมีสังคมใดในโลกซึ่งปราศจากการแข่งขันและการต่อสู้ แต่การต่อสู้มิได้หมายความถึง สงครามหรือ การทำลายเสมอไป

     เด็กที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นคนอิสระและพึ่งตนเองได้ต้องมีส่วนของความก้าวร้าว ถ้าเด็กไม่ก้าวร้าวเลยเขาจะต้องพึ่งมารดาไปตลอดชีวิต เขาจะไม่รู้จักโต, เขาจะไม่อาจเป็นปัจเจกชน, เขาจะไม่สามารถปกครองตนเอง, และไม่อาจเป็น นายของชีวิตได้

 

     เป็นที่น่าสังเกตว่า เด็กถูกห้ามไม่ให้ทำโน่นทำนี่ หรือ ไม่ห้าจับโน่นหยิบนี่มากมายเกินไป จนเขาเกิดความคับข้องใจ (frustration) ความโกรธและความก้าวร้าวจึงถูกกดเก็บ (repressed) ไว้มากเพราะถูกจำกัด ความก้าวร้าวที่ถูกกดเก็บไว้นั้นอาจมีมากเสียจนเป็นผลร้าย ก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองหรือต่อผู้อื่นในเวลาต่อมา

 

ความก้าวร้าวอย่างสร้างสรรค์..........

 

     แนวดังกล่าวนี้ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า เด็กที่คับข้องใจน้อยที่สุดจะไม่ก้าวร้าวแท้จริงการณ์กลับตรงกันข้าม กล่าวคือ เด็กที่ได้รับการตามใจและมีเสรีภาพมากเกินไปกลับก้าวร้าวมาก เด็กจะรู้สึกขาดความมั่นคงทางใจ เขาจะไม่แน่ใจในบิดามารดาที่ไม่เคยก้าวร้าวเลย เขาจะรู้สึกว่าบิดามารดาไม่เคยต่อสู้เพื่อปกป้องคุ้มครองเขา อีกประการหนึ่งการขจัดหรือระบายความก้าวร้าวย่อมต้องการฝ่ายตรงกันข้าม ถ้าเด็กไม่มีใครที่เป็นฝ่ายโต้แย้ง, ขัดขืนเขาเสียบ้าง เขาจะรู้จักต่อสู้ดิ้นรนได้อย่างไร

 

      การที่มนุษย์เรามีความเห็นไม่ตรงกัน, มีการขัดแย้งกัน, และมีการแข่งขันในทางสร้างสรรค์เป็นของดี เป็นส่วนของการสร้างเอกลักษณ์ และทำให้มนุษย์ดำรงชีพอยู่ได้ ถ้าเราไม่มีคนอื่นที่คิดและเชื่อ แตกต่าง จากเรา เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราคือใคร

 

     ถ้าไม่มี เขาแล้วจะมี เราได้อย่างไร

 

     ความขัดแย้งและความแตกต่างเป็นคุณมากกว่าโทษ ถ้าเรายอมรับความสำคัญข้างต้นดังกล่าว

     แล้วทำไมเราจะต้องก้าวร้าวอย่างทำลาย คนหรือ พวกหรือ สังคมที่ขัดแย้งกับเรา และถ้าเรายอมรับว่า สังคมใดก็ตามไม่อาจปราศจากการต่อสู้ได้ ทำไมเราไม่ชื่นชมฝ่าย เขาและพร้อมที่จะต่อสู้อย่างสร้างสรรค์

     

     ในโลกเรานี้มีที่แคบๆ อยู่เพียง 2 แห่งเท่านั้น ที่มนุษย์อยู่อย่างสบายไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเลย แห่งแรกคือ โพรงมดลูกของมารดา แห่งสุดท้ายคือหลุมฝังศพ ซึ่งทั้งสองแห่งนั้นเป็นที่รโหฐานที่สุดของมนุษย์ แต่ทั้งสองแห่งนั้นก็ไม่มีไดนามิคของชีวิต แห่งแรกไดนามิคยังไม่เริ่ม และแห่งหลังไดนามิคของชีวิตได้จบลงแล้ว เมื่อไม่ต้องต่อสู้ก็ไม่ต้องก้าวร้าว

      เราทุกคนก็ได้ผ่านแห่งแรกมาแล้ว แต่ก็ยังเดินทางไปไม่ถึงแห่งหลัง จึงยังต้องต่อสู้เมื่อต้องต่อสู้ก็ต้อง มีส่วน ของความก้าวร้าวแต่เราฝังใจเชื่อผิดๆ หรือมีอคติต่อความก้าวร้าวมานาน เรานึกถึงมันแต่ในแง่ทำลายบางทีบทความนี้อาจทำให้ท่านนึกถึงความก้าวร้าวในส่วนที่สร้างสรรค์บ้างท่านที่เคยเข้าใจผิดจะได้เลิกคิดก้าวร้าวต่อความก้าวร้าวเสียที

 

 

 

ที่มาของข้อมูล: จากบทความเพื่อสุขภาพจิต ของ แพทย์หญิงสุพัฒนา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข หน้า 36-40.http://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=1031