ตำหนิตัวเอง-รู้สึกผิดไม่มีเหตุผล ระวังเสี่ยงเป็น โรคซึมเศร้า

 

          ในช่วงชีวิตหนึ่งของคนเรา จะประกอบไปด้วยเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งดีและร้าย นำมาซึ่งความสุขหรือความทุกข์หมุนเวียนเปลี่ยนไป หากเมื่อคุณ "รู้สึกแย่" เป็นช่วงเวลานานหลายๆ สัปดาห์ หรือรู้สึกมีปัญหายุ่งยากรุนแรงในการดำรงชีวิตแต่ละวันคุณอาจกำลังเผชิญกับโรคทางจิตที่พบได้บ่อยๆ โรคหนึ่ง นั่นคือ โรคซึมเศร้า

         เรามักใช้คำว่า "ซึมเศร้า" ในความหมายของอารมณ์เศร้า ซึ่งแทบทุกคนจะต้องเคยประสบในบางช่วงชีวิต คนส่วนใหญ่จะรู้สึกเป็นทุกข์ เศร้าหมอง เมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น เช่น การสูญเสียผู้เป็นที่รัก การหย่าร้าง การตกงาน หรือความผิดหวังรุนแรง อารมณ์เศร้าหมองเหล่านี้พบได้บ่อย และถือเป็นเรื่องปกติ หากเกิดขึ้นในระดับที่สมเหตุสมผล และคงอยู่เพียงชั่วเวลาไม่นาน

          ทว่า หากความรู้สึกโศกเศร้านั้นทวีความรุนแรงขึ้น และคงอยู่เป็นระยะเวลานานหลายๆ สัปดาห์ ความสนใจต่อการดำรงชีวิตประจำวันเริ่มลดลงหรือหมดไป เกิดความรู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ ซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย ความรู้สึกเหล่านี้เป็นเครื่องชี้บ่งว่าอาการโศกเศร้าที่เกิดขึ้นนั้นได้รุนแรงจนถึงขั้นที่เรียกว่า "โรคซึมเศร้า" แล้ว

          ทั้งอารมณ์ซึมเศร้าและโรคซึมเศร้าต่างก็เป็นภาวะที่พบได้บ่อย ความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจและมีความสำคัญอย่างยิ่ง

          โรคซึมเศร้า เกิดจากหลายๆ ปัจจัย นับตั้งแต่พื้นฐานนิสัย บุคลิกภาพ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายถึงสภาพครอบครัวสังคม หรือแม้แต่ปัจจัยทางชีวภาพ นอกจากนี้การเสียสมดุลของสารเคมีบางตัวในสมองก็สามารถทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ การเสียสมดุลดังกล่าวเป็นผลกระทบซึ่งเกิดจากหลายๆ สาเหตุ เช่น การเจ็บป่วยด้วยโรคทางกาย การติดเชื้อบางชนิด การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด การขาดสารอาหาร และการใช้ยาบางชนิด ซึ่งแม้แต่ยาที่แพทย์สั่งบางชนิดก็สามารถทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้

          ผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามีความผิดปกติในหลายๆ ด้านได้ เช่น ความผิดปกติของอารมณ์ ความรู้สึก ความผิดปกติของพฤติกรรมและความสนใจ หรือความผิดปกติของอาการทางร่างกาย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

          ร้องไห้คร่ำครวญโดยไม่มีสาเหตุหรือในทางตรงข้ามผู้ป่วยอาจมีอารมณ์เฉยชา ปราศจากความรู้สึกตอบสนองไม่สามารถมีความสุขกับกิจกรรมใดๆ รู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง ตำหนิตนเอง หรือรู้สึกผิดโดยไม่สมเหตุสมผล

          ขาดความสนใจทางเพศ ขาดความรู้สึกผูกพันกับญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูง ความผิดปกติของพฤติกรรมและความสนใจ ขาดความสนใจ หรือความกระตือรือร้น แยกตัวออกจากผู้อื่นละเลยหน้าที่ความรับผิดชอบ

          หงุดหงิด เครียดกับสิ่งที่เคยทำได้ดีในภาวะปกติไม่พึงพอใจต่อสภาพชีวิตทั่วไปที่เป็นอยู่  ความจำบกพร่องไม่มีสมาธิกับกิจกรรมใดๆ ความสามารถในการปรับตัว และแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันลดลง

          เราสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือ ช่วยให้เขาได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องจากจิตแพทย์ ทั้งยังอาจช่วยให้กำลังใจเขา ให้เขาร่วมมือกับแผนการรักษาจนกว่าอาการจะทุเลา ในครั้งแรก เราอาจจะต้องเป็นผู้ช่วยนัดเหมายจิตแพทย์ให้ และไปตรวจพร้อมกับเขา แล้วช่วยติดตามว่า ผู้ป่วยได้กินยาตามที่แพทย์สั่งมาหรือไม่

          ลำดับถัดมาคือ การช่วยเหลือทางจิตใจ อันได้แก่การแสดงความเข้าใจ ความอดทน ความเอาใจใส่ และให้กำลังใจ แก่ผู้ป่วยโดยการดึงผู้ป่วยเข้ามาร่วมวงสนทนา และเป็นผู้ฟังที่ดี อย่ามองข้ามคำพูดที่ว่า อยากตาย หรืออยากฆ่าตัวตาย ควรรีบแจ้งให้จิตแพทย์ทราบ

          พยายามชวนผู้ป่วยไปเดินเล่น เปลี่ยนสถานที่ ชมภาพยนตร์ หรือเข้ากิจกรรมต่างๆ ควรแสดงความตั้งใจจริงที่เราอยากให้เขาไป หากตอนแรกเขาปฏิเสธ อาจต้องคะยั้นคะยอให้เขาทำกิจกรรมที่เขาชอบและเพลิดเพลิน เช่น งานอดิเรก กีฬา ศาสนา หรือสมาคมต่างๆ แต่ไม่ต้องรีบบังคับผู้ป่วยรับที่จะทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมมากๆ และเร็วเกินควร แม้ผู้ป่วยเหล่านี้จะต้องการสิ่งที่มาจรรโลงใจ แต่การคาดหวังกับเขามากเกินไปจะยิ่งทำให้เขารู้สึกล้มเหลว

          ที่สำคัญคนรอบข้างต้อง อย่ากล่าวโทษผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคซึมเศร้าว่า แกล้งป่วย หรือเกลียดคร้าน หรือคาดคั้นให้หายซึมเศร้าในพริบตา ในที่สุดแล้วผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจะดีขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นปกติ จงระลึกถึงความจริงข้อนี้และให้ความมั่นใจกับผู้ป่วยเช่นกันว่า ด้วยการช่วยเหลือและการรักษา เขาจะหายจากโรคนี้แน่นอน

 

ที่มา www.thaihealth.or.th