โรคกลัว (Phobic disorder)

 

โรคกลัวคือภาวะที่ผู้ป่วยกลัวสถานการณ์หรือบางสิ่งบางอย่าง (phobic situation or phobic object) อย่างมากจนทำให้เกิดปัญหาและผู้ป่วยก็พอจะรู้ว่าความกลัวนี้ไม่ค่อยสมเหตุผลแต่ก็ยังอดที่จะกลัวไม่ได้ เมื่อเผชิญกับสิ่งที่กลัวผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนอาการแพนิค คือจะใจสั่น หัวใจเต้นแรง หายใจเร็ว มือเท้าเย็นอ่อนปวกเปียก ท้องไส้ปั่นป่วน และบางคนจะมีอาการวิงเวียนตาลาย โรคกลัวที่มักทำให้เเกิดอาการวิงเวียนตาลายคือโรคกลัวชนิด agoraphobia, social phobia, blood-injury phobia, และ space phobia

 

Agoraphobia

เป็น cluster of phobias คือผู้ป่วยอาจจะกลัวสถานการณ์ได้หลายๆแบบคือ กลัวที่โล่งๆกว้างๆ กลัวที่แคบๆ กลัวที่ๆมีคนมากๆ กลัวที่สูง กลัวที่ๆไม่คุ้นเคยหรือสถานที่ๆไกลจากบ้าน

 

Social phobia

คือโรคกลัวการถูกจ้องมองหรือตกเป็นเป้าสายตาคน กลัวสถานการณ์ที่ตนอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือถูกตำหนิ เช่นขึ้นเวที เซ็นชื่อต่อหน้าคนอื่น กินข้าวร่วมโต๊ะกับคนแปลกหน้า

 

Blood-injury phobia

ผู้ป่วยจะเกิดอาการกลัวเมื่อเห็นเลือดหรือเห็นบาดแผล บางครั้งแค่นึกถึงผู้ป่วยก็เกิดอาการกลัวแล้ว ในผู้ป่วยที่เป็นโรคกลัวแบบนี้เมื่อผู้ป่วยเห็นเลือดในช่วงแรกหัวใจจะเต้นเร็วหลังจากนั้นจะเกิด bradycardia จนความดันโลหิตตกลงทำให้ผู้ป่วยเป็นลมได้

 

Space phobia

เป็นโรคกลัวอีกชนิดหนึ่งซึ่งเพิ่งเริ่มรู้จักกันไม่นาน ผู้ป่วยจะมีปัญหาว่าทรงตัวไม่อยู่หรือรู้สึกเหมือนจะล้มถ้าต้องยืนหรือเดินในบริเวณที่ไม่มีอะไรให้เกาะ ผู้ป่วยจะรู้สึกปกติถ้ามีอะไรอยู่ใกล้ๆในระยะที่ตนเกาะได้และไม่จำเป็นต้องเกาะก็ได้การรักษาโรคกลัวสามารถทำได้โดยให้ผู้ป่วยเข้าไปเผชิญกับสิ่งที่ตนกลัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป (graded exposure) จนผูป่วยเกิดความชินชากับสิ่งนั้นเช่นในผู้ป่วยที่กลัวความสูงเราอาจให้ผู้ป่วยขึ้นไปนั่งริมระเบียงชั้น 2 วันละ 1 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะเกิดอาการกลัวเมื่อเริ่มไปนั่งแต่อาจจะกลัวไม่มากนักเพราะอยู่แค่ชั้น 2 ความกลัวจะค่อยๆลดลงเมื่อเวลาผ่านไป และแทบจะไม่กลัวเลยเมื่อหมดเวลา 1 ชั่วโมง วันต่อมาให้ทำแบบเดิมอีกผู้ป่วยก็จะกลัวอีกเมื่อเริ่มออกมานั่งแต่จะกลัวน้อยกว่าและจะหายเร็วกว่าเมื่อวาน ทำทุกวันจนผู้ป่วยหายกลัวความสูงระดับชั้น 2 ก็ให้ขึ้นไปทำแบบเดียวกันกับชั้น 3 และเลื่อนชั้นไปเรื่อยๆจนถึงระดับที่ผู้ป่วยพอใจ

ในรายที่เป็น social phobia, generalized type (กลัวหลายๆสถานการณ์) ที่ไม่สามารถทำการรักษาแบบที่กล่าวมาเราอาจรักษาด้วยยา SSRIs (sepecific-serotonin reuptake inhibitors ) ในรายที่เป็น social phobia, performance type (กลัวเฉพาะการต้องทำอะไรต่อหน้าคนอื่น) เราอาจรักษาด้วยยา betablocker ได้

อีกภาวะหนึ่งที่พบได้บ่อยมากในเวชปฏิบัติทั่วไปคือภาวะ hyperventilation syndrome ในขณะเกิดอาการผู้ป่วยจะรู้สึกวิงเวียนได้ เพราะเมื่อระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดต่ำลง เส้นเลือดในสมองจะหดตัว (cerebral vasoconstriction) ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง การรักษาคือทำให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดเพิ่มกลับสู่ระดับปกติ อาจจะโดยการให้ผู้ป่วยหายใจในถุงกระดาษใบโตๆ หรือสอนการหายใจให้กับผู้ป่วย (breathing exercise) หรืออาจให้ยาคลายกังวลด้วยถ้าพบว่าอาการดังกล่าวเกิดจากความเครียด

 

การอยู่ในภวังค์ (Dissociative state)

เป็นภาวะเหม่อลอยหรือทำอะไรแปลกๆหรือทำอะไรไม่ถูกในขณะที่ผู้ป่วยกำลังมีความเครียดอย่างรุนแรง เช่นเมื่อถูกทำให้อับอายอย่างรุนแรง เมื่อทราบข่าวร้าย หรือในกรณีเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงเช่นไฟไหม้ ผู้ป่วยอาจเกิดอาการมึนชาไปหมดเหมือนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ หรือเหมือนไม่ได้ยินข่าวร้ายอันนั้น บางคนอาจเกิดอาการวิงเวียนร่วมด้วย เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้วบางคนอาจบอกว่าจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้

 

การรักษา

คือการทำจิตบำบัดแบบประคับประคองโดยให้ผู้ป่วยได้พูดระบายความกังวล ความคับข้องใจ ความรู้สึกอับอาย โดยไม่ถูกตำหนิ อาจมีการชี้แนะให้ผู้ป่วยได้เห็นมุมมองอื่นที่ต่างไปจากที่ผู้ป่วยคิดเองคนเดียว ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยมีการปรับตัวที่ดีขึ้น

ในผู้ป่วยที่มี true vertigo บางครั้งอาจมีปัญหาทางจิตเวชร่วมด้วยได้เช่น ปรับตัวไม่ได้ เกิดความเครียด เกิดภาวะซึมเศร้า เกิดความไม่มั่นใจตนเองหรือเกิดพฤติกรรมถดถอย (regression) ทำให้ต้องคอยพึ่งพิงผู้อื่นมากเกินไป หรือได้รับสิ่งทดแทน (secondary gain) มากเกินไปเช่นพอป่วยเป็น vertigo แล้วลูกอยู่บ้านมากขึ้นเพื่อคอยช่วยเหลือผู้ป่วยหรือป่วยแล้วสามีกลับบ้านเร็วขึ้นผู้ป่วยจึงไม่ยอมหายทั้งๆ ที่น่าจะหายได้แล้วทำให้เกิดปัญหาในการดูแลรักษาและบางครั้งทำให้ผู้รักษาไม่แน่ใจว่าอาการครั้งใดเป็น true vertigo ครั้งใดเป็นอุปาทาน (conversion) ของผู้ป่วย

ในการรักษาเราคงจะต้องแน่ใจพอสมควรว่าโรคทางกายค่อนข้างดีแล้ว และได้ข้อมูลว่าเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น แนะนำญาติให้ลดสิ่งทดแทนและฝึกให้ผู้ป่วยช่วยตนเองมากขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาจมีการฝึกการทรงตัวโดยใช้ความรู้สึกของข้อและกล้ามเนื้อ (proprioceptive sense) มาช่วย

 

ที่มา : ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องของแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี