วัยรุ่น: จะสร้างสัมพันธภาพที่ดีอย่างไร

 

 

     การเรียนรู้วิธีการพัฒนาสัมพันธภาพที่ดีเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ก่อนอื่นคุณต้องรู้ว่าคนเราทุกคนต้องการค้นหาสิ่งใดบ้างในการมีมิตรภาพกับใครบางคน สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น ได้แก่

      1. ความใสใจและเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ความใส่ใจในคนอื่น คือ มีความต้องการที่จะรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเขาบ้าง มีความสนใจในความคิดและความรู้สึกของเขา ต้องการรับรู้ในความล้มเหลวและความสำเร็จในชีวิตของเขา คนทุกคนชอบคนที่ให้ความสนใจในเรื่องราวของตัวเขาอย่างจริงใจ แต่ในทางตรงกันข้ามทุกคนจะไม่อยากคบกับคนที่สนใจแต่เรื่องของตัวเอง ไม่สนใจผู้อื่นเลย คุณคงเคยพบพานคนประเภทนี้บ้าง พวกเขาจะพูดถึงแต่เรื่องของตนเองไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในชีวิตของเขา ประสบการณ์ของเขา ความคิดเห็นของเขา การพูดคุยกับคนแบบนี้ก็ไม่สนุกเลยและทุกคนก็อยากหลีกเลี่ยง 

     ความใส่ใจมีความหมายเช่นเดียวกับ " ฉันจะอยู่เคียงข้างเธอเสมอ เมื่อเธอต้องการฉัน " คนส่วนมากมักลังเลที่จะร่วมรับรู้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคนอื่น เพราะพวกเขากลัวว่าจะต้องร่วมรับภาระอันหนักหน่วงนั้น แต่ถ้าเพื่อนสนิทที่คุณเอาใจใส่ในตัวเขา มีปัญหากับเพื่อนคนอื่นในชั้นเรียน คุณก็หวังว่าเพื่อนของคุณจะปรึกษาคุณ แม้ว่าจะไม่มีใครสามารถแก้ปัญหาได้ แต่ก็เป็นการช่วยให้กำลังใจ และจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อรู้ว่ามีคนรับฟังคุณอยู่ 

     การใส่ใจในสัมพันธภาพกับผู้อื่นก็เหมือนกับการใส่ใจตนเองด้วยเช่นเดียวกัน และเป็นประโยชน์ที่คุณจะได้รับ บางครั้งความเป็นเพื่อนก็ต้องรู้จักปฏิเสธและกล่าวคำว่า " ไม่ได้ " เช่นกัน เมื่อมีคนที่ปฏิบัติกับคุณอย่างไม่ยุติธรรมและไม่ถูกต้อง ควรจะบอกให้เขารู้ว่า คุณรู้สึกอย่างไร การเผชิญหน้ากับปัญหาจะเป็นการดีกว่าการหลีกเลี่ยง โดยปล่อยให้เพื่อนของคุณกระทำความผิดแล้วผ่านไปเลย

 

     2. ความไว้เนื้อเชื่อใจ การอยู่กับผู้อื่นอย่างมีความสุข คุณจำเป็นต้องให้เขาไว้วางใจในตัวคุณด้วย เช่น เรื่องการตรงต่อเวลา การรักษาสัญญาและเรื่องอื่นๆ เช่นเดียวกับการที่คุณนัดใครสักคนแต่เขาไม่ไปตามนัด คุณคิดกับเขาอย่างไร แน่นอนว่าคุณจะเกิดความลังเล และไม่แน่ใจว่าคราวหน้าจะนัดเขาอีกหรือเปล่า 

     ความไว้วางใจในหลายๆเรื่อง เช่น คุณหวังว่าเพื่อนของคุณจะรักษาสัญญาที่ให้ไว้ เพื่อนของคุณจะต้องคืน หนังสือที่ยืมไปอ่าน เพื่อนจะต้องช่วยเหลือคุณในเหตุการณ์ฉุกเฉิน คนที่ไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจก็ยากที่ใครจะคบเป็นเพื่อนสนิท

 

     3. การยอมรับนับถือ คนทุกคนต้องรู้จักการนับถือตนเอง แต่ก่อนที่คุณจะรู้จักนับถือตนเอง คุณก็ต้องรู้จักที่จะนับถือผู้อื่นก่อน คุณจะเรียนรู้การนับถือตนเองได้จากการที่มีใครสักคนบอกว่าชอบคุณนะ มีคนมาชื่นชมคุณ มีคนมายินดีกับความสำเร็จของคุณ พวกเขาต้องการได้สิ่งที่ดีที่สุดจากคุณ และเพื่อนก็เป็นตัวกระตุ้นให้คุณได้พัฒนาความสามารถของคุณ เพื่อให้เพื่อนๆยอมรับนับถือในตัวคุณ

     บางครั้งคุณอาจจะประหลาดใจที่คนรอบข้างมองว่า คุณเป็นคนที่มีความสามารถมาก ในขณะที่คุณไม่ได้รู้สึกเช่นนั้นเลย การรู้จักที่จะแสดงความชื่นชมและนิยมยินดีกับผู้อื่น ก็เป็นการแสดงถึงความเติบโตทางวุฒิภาวะด้วยเช่นเดียวกัน

 

     4. การมีส่วนร่วมและการแบ่งปัน สัมพันธภาพที่ดีที่สุด คือ การได้มีส่วนร่วมและแบ่งปันในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การมีส่วนร่วมในประสบการณ์ ร่วมเป็นเจ้าของในวัตถุสิ่งของ มีส่วนร่วมและแบ่งปันในความคิดความรู้สึก การมีส่วนร่วมและแบ่งปันหมายถึง การรับฟังเพื่อนของคุณเล่าถึงสิ่งที่หวัง ความใฝ่ฝัน และความไม่สมหวังของเขา ความเป็นจริงคนส่วนมากมักจะลังเลที่จะมีส่วนแบ่งปัน เพราะกลัวว่าจะถูกปฏิเสธ หรือถูกมองอย่างผิดๆ แต่ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างเพื่อนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายต่างได้มีส่วนร่วมในชีวิตของกันและกัน คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะเกิดการแบ่งปันทางความคิด ความรู้สึกดีๆ ระหว่างเพื่อน เช่น ความรักความชอบพออาจจะไม่ได้แสดงออกตรงๆ แต่เป็นในทางอ้อม เช่น การพูดจาหยอกล้อ การล้อเลียน การเล่นชกต่อย สิ่งเหล่านี้จะเป็นการบอกว่า " ฉันชอบเธอมาก "

     แต่คุณรู้มั้ยว่า ความรู้สึกปฏิเสธกลับมีการแสดงออกได้ยากยิ่งกว่าการมีส่วนร่วมแบ่งปันเสียอีก ถ้าเพื่อนของคุณทำให้คุณเสียใจ คุณก็ไม่อยากที่จะบอกใครถึงความรู้สึกของคุณว่าความสัมพันธ์นั้นจะสูญไป แต่การไม่กล้าแสดงความรู้สึกกลับเป็นการที่ทำให้คุณและเพื่อนของคุณเสียโอกาสที่จะพัฒนาความเป็นผู้ใหญ่ต่อไป 

     การได้แบ่งปันความคิดและความรู้สึกกับผู้อื่น เป็นการช่วยให้คุณได้รู้จักตนเองมากยิ่งขึ้นในสิ่งที่ไม่รู้ คนทุกคนมักจะมีความรู้สึกก้ำกึ่งหรือสองฝักสองฝ่าย อาจสงสัยว่าสิ่งนั้นดีหรือไม่ดี อาจจะอธิบายได้ยาก การมีส่วนร่วมแบ่งปันจะทำให้คุณเป็นคนที่ไวกับความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น เพิ่มความระมัดระวังตนเองและเป็นการช่วยให้คุณมีทักษะในการตัดสินใจและแก้ปัญหาได้ดีด้วย

 

     5. การมีความยืดหยุ่น สัมพันธภาพที่ดีระหว่างคนสองคนควรมีความยืดหยุ่นไว้ สำหรับความบกพร่อง ความผิดพลาด และความแตกต่างไว้ด้วย คุณอาจจะถามว่า จะต้องมีความยืดหยุ่นเท่าใดสำหรับเพื่อน

     ความยืดหยุ่นหมายถึง การที่คนๆ นั้นสามารถยอมรับและปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ คนที่มีความยืดหยุ่นจะเป็นคนที่สามารถมีความสุข แม้จะอยู่กับคนที่มีความคิดเห็นต่างกัน หรือวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน โดยปราศจากความรู้สึกกดดัน หรือต้องเลียนแบบเพื่อนเพื่อที่จะเข้ากับเพื่อนให้ได้

     ในคนที่ไม่มีความมั่นคงในตนเอง พบว่าเขาไม่สามารถจะยอมรับเพื่อนหรือคนที่มีความแตกต่างจากเขาได้ การพัฒนาความสามารถในการยอมรับ และปรับตัวเข้ากับเพื่อนที่มีความต่างจากคุณด้วยความเหมาะสม เป็นความท้าทายสำหรับคุณและถ้าคุณทำได้ก็จะทำให้คุณเพิ่มความเชื่อมั่นในเอกลักษณ์และความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น

 

     6. ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คือ ความสามารถในการใส่ความรู้สึกของตัวคุณในขอบเขตความรู้สึกของคนอื่น การจะเข้าใจความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรมของผู้อื่นได้นั้น ต้องมาจากการได้พิจารณาและสังเกตอย่างใกล้ชิด คุณสามารถที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจกับคนทุกคนได้ แม้ว่าการแสดงความเห็นใจคนที่คุณชอบจะเป็นการง่ายกว่า แต่ก็เป็นความจำเป็นที่คุณจะต้องแสดงความเห็นอกเห็นใจได้กับคนที่มีความแตกต่างจากคุณ ตัวอย่างเช่น คุณเป็นคนที่พูดมาก พูดเร็ว มีความรู้สึกรุนแรง เป็นคนกระฉับกระเฉง คุณจะเกิดความลำบากใจที่จะเริ่มต้นแสดงความเห็นอกเห็นใจกับคนที่พูดน้อยมาก หรือกับคนที่โกรธใครแล้วโกรธนาน นั่นหมายถึงว่า คนเราส่วนมากมักชอบคนที่มีอะไรคล้ายๆกันกับตนเอง แต่ละคนก็มีแนวความคิดและวิธีแสดงอารมณ์ที่แตกต่างกันด้วย การจะรู้ว่าเขามีอารมณ์เช่นไรก็จากความใกล้ชิดและสังเกตนั่นแหละ คุณจึงจะสามารถที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจในความรู้สึกของเขาได้ เช่น ถ้าสีหน้าเขาเป็นแบบนี้หมายถึงกลัว หรือถ้าเขามีอาการลุกลี้ลุกลน หมายถึงเขากำลังมีความวิตกกังวลอยู่เป็นต้น 


     การแสดงความเห็นอกเห็นใจจะทำได้ง่ายยิ่งขึ้น ถ้ามีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เพราะจะไม่เกิดความเข้าใจผิดต่อกัน ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าทำไมบางคนจึงมีอาการประหลาดๆกับคุณ จนคุณคิดว่าตัวเองมีอะไรผิดปกหรือเปล่า ถ้าคุณได้รู้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวมีสาเหตุมากจากอารมณ์ของเขา ไม่ใช่มาจากการกระทำของคุณ จะทำให้เป็นคนที่ไวกับความต้องการของคนอื่นมากขึ้น ความเห็นอกเห็นใจเปรียบเสมือนการที่คุณรับรู้และเข้าใจถึงความรู้สึกภายในที่แฝงอยู่ในคำพูด และการกระทำของเพื่อน ถ้าคุณมีความเห็นอกเห็นใจ คุณก็รู้ว่าควรจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเพื่อนหรือคนอื่นอย่างไร

 

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
ปรับปรุงครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2546