ปัญหาอารมณ์: โรคเซ็งเรื้อรัง

 

 

     ชื่อของบทความในวารสารฉบับนี้ ดูจะเข้ากับภาวะปัจจุบัน เพราะไปที่ไหน ๆ ก็จะพบผู้คนที่ยิ้มแห้ง ๆ และบอกว่า เซ็งว่ะโดยเป็นที่รู้กันว่า คำว่า เซ็งกินขอบเขตไปถึงเรื่องอะไรบ้าง แต่ในความหมายของโรคเซ็งเรื้องรังที่มีการพูดถึงมากในวงการแพทย์ขณะนี้คือ กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง หรือ Chronic fatigue syndrome(CFS) ซึ่งผู้เขียนอยากเรียกว่าเป็น โรคเซ็งเรื้อรัง เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย 

     พวกเราคงเคยมีความรู้สึกเซ็งๆ หรือเบื่อหน่าย อ่อนเพลีย ไม่อยากลุกไปทำงานหรือกิจวัตรประจำวัน เมื่อคิดว่าต้องไปพบกับอะไร กันมาบ้างแล้ว แต่อาการเซ็งของเราจะเป็น ๆ หาย ๆ ตามสภาวะแวดล้อมไม่เป็นอยู่นานนัก แต่ผู้ที่ป่วยด้วยกลุ่มอาการที่ว่านี้จะมีอาการอ่อนเพลียและเหนื่อยอ่อนอยู่เป็นระยะเวลานานอาจเป็นเดือน หลายเดือนหรือเป็นปี ภายหลังจากที่ต้องพบกับภาวะเครียดอย่างรุนแรง หรือภายหลังการเจ็บป่วย เช่น ไข้หวัดใหญ่ ท้องเดินอย่างแรง เป็นต้น อาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรงของคนปกติมักจะหายไปภายหลังการได้พัก นอนหลับให้เต็มที่สัก 2-3 วัน แต่ผู้ที่เป็นโรคเซ็งเรื้อรัง ไม่ว่าจะพักผ่อนขนาดไหนหรือบำรุงร่างกายมากเพียงใด ก็ยังมีอาการอ่อนเพลียอย่างมากอยู่ โดยที่ไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติ ๆได้ 

 

    โรคเซ็งเรื้อรัง หรือ CFS นี้ได้มีผู้รายงานในชื่อของอาการอื่นมานานกว่า 1 ศตวรรษ ในปี ค.ศ. 1860 นายแพทย์จอร์จ เบียร์ด (Dr. George Beard) เรียกชื่อกลุ่มโรคนี้ว่า Neurasthenia (ซึ่งอาจจะยังมีการวินิจฉัยอยู่จนถึงปัจจุบัน) โดยเชื่อว่าเป็นโรคประสาทชนิดหนึ่งที่มีอาการอ่อนเปลี้ย เหนื่อยง่ายโดยไม่พบสาเหตุ แพทย์อีกหลายคนจะวินิจฉัยผู้มีอาการเหล่านี้ว่าเป็นโรคโลหิตจางบ้าง หรือน้ำตาลในเลือดต่ำบางครั้งเลยไปถึงคิดว่าเป็นโรคเชื้อรา แคนดิดา ทั้งตัวก็มี 

 

     พอวิวัฒนาการทางการแพทย์เจริญขึ้น ในกลางทศวรรษที่ 1980 โรคนี้ถูกขนานนามว่าเป็น “ Chronic EBV” โดยเชื่อว่าเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอ็บสไตน์ บาร์ (Epstein-Barr) แต่ในปัจจุบันทฤษฎีนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก เพราะเราสามารถตรวจพบระดับแอนติบอดีของไวรัส อีบีวี ที่เพิ่มขึ้นทั้งในผู้มีอาการและคนปกติ และในทางกลับกันผู้ที่มีอาการกลับไม่พบระดับของไวรัสอีบีวี แอนติบอดีหรือไม่เคยติดเชื้อไวรัสอีบีวีเลย 

 

     ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเซ็งเรื้อรัง มักจะมีอาการอย่างรวดเร็ว เริ่มต้นโดยอาการปวดศีรษะ เจ็บบริเวณต่อมน้ำเหลือง ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และขาดสมาธิ ิเป็นอาการที่คล้ายกับไข้หวัดใหญ่แต่คงจะอยู่นานกว่า 

 

     ส่วนใหญ่จะมีอาการภายหลังการเจ็บป่วยด้วยโรคทางกาย เช่น ไข้หวัด หลอดลมอักเสบ ตับอักเสบ บางรายอาจเกิดขึ้นหลังจากมีอาการของโมโนนิวคลีโอสิส(Mononucleosis) หรือโรคจูบ(Kissing disease) ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้พละกำลังของวัยรุ่นถดถอยลงไปชั่วระยะหนึ่ง ในบางราย อาการจะค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน ผู้ป่วยบางรายบอกว่า เริ่มมีอาการหลังจากพบกับความเครียดมาก ๆ มา 

 

     น่าแปลกที่ว่า โรคเซ็งเรื้อรังหรือ CFS นี้จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2-4 เท่า ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความแตกต่างในเรื่องเพศ ที่พบโรคบางชนิดในเพศหญิง เช่น ลูปัส (Lupus) หรือ Multiple sclerosis หรืออาจเป็นเพราะผู้หญิงมักจะไปพบแพทย์ด้วยอาการอ่อนเพลียมากกว่าเพศชาย แต่อย่างไรก็ตามแพทย์ทั่วไปยังคิดถึงโรคนี้น้อยกว่าที่ควร เนื่องจากการวินิจฉัยค่อนข้างยากเพราะมีอาการที่อาจเป็นได้หลายโรค แพทย์ต้องวินิจฉัยแยกโรคทางกาย ที่มีอาการอ่อนเพลียคล้าย ๆ กันไปก่อน เช่น Lupus หรือ Multiple sclerosis และในการติดตามดูแลผู้ป่วยแต่ละครั้งก็ให้นึกถึงโรคที่มีระยะเวลาการดำเนินโรคนาน ๆ ไว้เสมอ ได้มีการประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาข้อบ่งชี้ในการวินิจฉัยให้ชัดเจน แต่ก็ยังต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นว่า โรคเซ็งเรื้อรังอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของโรคที่เป็นติดต่อกันโดยมีอาการอ่อนเพลียเป็นอาการสำคัญ 

 

     โรคเซ็งเรื้อรัง ยังไม่มีการรักษาที่เฉพาะลงไปได้มีการให้ยาต้านไวรัส ยาต้านอารมณ์เศร้า ยาเพิ่มภูมิคุ้มกัน รวมทั้งการให้ อิมมูโนโกลบูลินในขนาดสูง ๆ จากการศึกษาผู้ป่วยที่ได้รับยา Acyclovir ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาจริงกับผู้ป่วยที่ได้ยาทดลอง มีอาการดีขึ้นเท่า ๆกัน ซึ่งทำให้การรักษาโดยยาต้านไวรัสลดน้ำหนักลงไป แพทย์บางท่านได้ให้ยาต้านอารมณ์เศร้าชนิด Tricychic ในขนาดต่ำ ๆ พบว่าได้ผลดีเหมือนกับผู้ป่วย Fibromyalgia ซึ่งมีอาการคล้ายผู้ป่วย CFS แต่นักวิจัยบางคนบอกว่าอาจเป็นเพราะยาทำให้นอนหลับได้ดีขึ้นมากกว่า ยาต้านอารมณ์ซึมเศร้าที่ใช้ขนาดสูงๆ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเปลี้ยมากขึ้น จึงเปลี่ยนเป็นยาต้านอารมณ์เศร้าชนิดใหม่ๆ หรือบางรายใช้ยาสงบประสาทพวก Benzodiazepine ร่วมด้วย เพื่อลดอาการวิตกกังวลและช่วยให้หลับ นอกจากนี้ยังใช้ยาเพื่อรักษาอาการ เช่น ยาระงับปวด หรือยาแก้โรคภูมิแพ้ 

 

     อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำว่าผู้ที่มีอาการเรื้อรัง ควรพยายามรักษาสุขภาพของตนเอง กินอาหาร และพักผ่อนให้พอ ออกกำลังกายพอสมควรที่จะไม่ให้เกิดอาการอ่อนเพลียอีก ผู้ป่วยควรรู้จักที่จะดูแลตนเองให้เหมาะทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา เพราะความเครียดจะทำให้มีอาการมากขึ้นได้ การได้รับคำปรึกษาและให้กำลังใจจากญาติและผู้ใกล้ชิด จะช่วยให้ผู้ป่วยอยู่กับโรคหรืออาการที่เปลี่ยนแปลงไปมาอย่างไม่แน่นอนนี้ได้ 

 

ท่านคิดว่าท่านมีอาการของโรคเซ็งเรื้อรังนี้แล้วหรือยัง?

 

 

 

นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์
ปรับปรุงครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2545