กรอกยังไง?...ใบสมัครงาน(เจ้าปัญหา)

 
                      ทุกบริษัทจะต้องมีใบสมัครงานครับแต่ใบสมัครงานของแต่ละบริษัทจะมีความแตกต่างกันไป ซึ่งเป็นเรื่องของผู้สมัครงานที่จะต้องพินิจพิจารณากันเองแหละครับว่าควรจะกรอกใบสมัครงานอย่างไรที่จะทำให้ประวัติของท่านนั้นน่าสนใจที่จะได้รับการคัดเลือกให้มาทดสอบข้อเขียนหรือสอบสัมภาษณ์ในที่สุด ทั้งนี้ผมมีเรื่องที่ท่านควรคำนึงเกี่ยวกับการกรอกใบสมัครงานมาเล่าสู่กันฟังดังนี้ครับ
 
 

         1. อ่านใบสมัครให้ถี่ถ้วนก่อนจะเขียนอะไรลงไปในนั้น เน้นเลยนะครับว่าท่านจะต้อง "อ่าน" เสียก่อนเมื่อได้ใบสมัครงานมาให้ท่านอ่านใบสมัครงานนั้นให้ถี่ถ้วน ยังไม่ต้องเขียนอะไรลงไปเพราะมีหลายคนนะครับที่มีปฏิกิริยาอัตโนมัติต่อใบสมัครงานนั่นคือพอได้ใบสมัครงานมาปุ๊บก็กรอกรายละเอียดปั๊บโดยยังไม่ทันอ่านให้ดีเสียก่อน ผลก็คือเขียนผิดพลาดทำให้ต้องมีการขูดลบขีดฆ่า หรือบางคนหนักกว่านั้นเอาน้ำยาป้ายขาวป้ายลบเข้าไปเสียอีก ทำให้ใบสมัครงานสกปรกส่อให้เห็นถึงความสะเพร่าของคน ๆ นั้นเป็นอย่างดี ดังนั้นท่านควรจะต้องระมัดระวังเรื่องเหล่านี้ให้ดีนะครับ อ่านให้เข้าใจเสียก่อนแล้วจึงค่อย ๆ กรอกรายละเอียดลงไปในใบสมัครงานตามที่เป็นจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งใบสมัครงานที่เป็นภาษาอังกฤษ

 
 

         2. ลายมือและความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อท่านกรอกรายละเอียดลงในใบสมัครงานแล้วพยายามอย่าให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นหากจะมีการลบบ้างก็ควรให้น้อยที่สุด ไม่ควรใช้น้ำยาป้ายขาวป้ายคำผิดจนน่าเกลียด(หากผิดนิด ๆ หน่อย ๆ ยังพออภัย)เพราะผมเคยเจอที่ไม่ดูให้ถี่ถ้วนเสียก่อนกรอกประวัติการทำงานผิดตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานจนถึงปัจจุบันแล้วยังใช้น้ำยาป้ายขาวป้ายจนเลอะเทอะไปหมด แถมยังกล้าส่งใบสมัครนั้นให้กับเจ้าหน้าที่รับสมัครอีกด้วยแน่ะ หากเป็นอย่างนี้ผมว่าสู้ไปขอใบสมัครงานจากเจ้าหน้าที่มาเขียนใหม่เสียยังดีกว่า อ้อ! ลายมือที่สวยและอ่านง่ายย่อมจะดีกว่าลายมือหวัดอ่านยากแถมบางทียังตัวเล็กขนาดต้องเอาแว่นขยายส่องบางคำก็ไม่ไหวเหมือนกันนะครับ

 
 

         3. กรอกข้อความต่าง ๆ ให้ตรงกับความเป็นจริง เพราะในใบสมัครงานส่วนใหญ่มักจะมีข้อความระบุไว้ตอนท้ายว่าหากบริษัททราบว่าผู้สมัครเจตนาปกปิดหรือแจ้งสิ่งที่เป็นเท็จลงในใบสมัครงานแล้วบริษัทมาทราบทีหลังนั้น บริษัทมีสิทธิจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ทันทีเพราะใบสมัครงานนั้นถือเป็นสัญญาจ้างด้วยครับ

 
 

         4. ควรระบุตำแหน่งที่ต้องการสมัครและอัตราเงินเดือนที่ต้องการให้ชัดเจน เพราะมีผู้สมัครหลายคนที่ไม่ได้ระบุตำแหน่งที่สมัครเอาไว้ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจะแยกประเภทเพื่อส่งให้หน่วยงานต่าง ๆ ทราบได้ว่าท่านมีความสนใจในตำแหน่งใด ส่วนในกรณีการระบุอัตราเงินเดือนนั้นบางท่านอาจจะเกรงว่าหากระบุต่ำไปบริษัทอาจจะ"มั่วนิ่ม"จ้างต่ำไปเลย หรือหากระบุเงินเดือนสูงไปก็อาจจะ"ชวด"ตำแหน่งงานนั้นไปเลยเพราะบริษัทสู้ค่าตัวไม่ไหว ในเรื่องนี้ก็เป็นไปได้ครับ ผมเคยสัมภาษณ์ผู้สมัครงานในตำแหน่ง "พนักงานสินเชื่อ" รายหนึ่งที่เพิ่งจะจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งระบุว่าต้องการเงินเดือน 18,000 บาท(ในปี พ.ศ.2538) ผมก็ถามว่าทำไมจึงต้องการเงินเดือนเท่านี้ทั้ง ๆ คุณยังไม่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อนเลย เขาตอบว่า "ผมลงไว้เผื่อต่อครับ และเห็นว่ารุ่นพี่เขาบอกว่าให้ใส่ไว้เยอะ ๆ เอาไว้ก่อน" นี่แสดงถึงอะไรครับ ผมคิดว่าแสดงถึงความที่ยังไม่พร้อมทั้งวุฒิภาวะที่จะทำงานแล้วอย่างนี้เมื่อไหร่จะได้งานกันล่ะครับ ดังนั้นผู้สมัครงานจึงควรจะต้องหาข้อมูลเอาไว้บ้างว่าในตลาดแรงงานนั้นตำแหน่งที่ท่านต้องการสมัคร "น่าจะ" อยู่ในช่วงเงินเดือนสักเท่าไหร่แล้วก็ระบุเงินเดือนไว้เป็นช่วงเช่น 5,000-6,000 บาท อย่างไรก็ตามในบริษัทที่มีมาตรฐานในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนที่ดีนั้นเขาจะไม่ "มั่วนิ่ม" เงินเดือนที่ท่านระบุเอาไว้หรอกครับ ถึงแม้ว่าท่านจะระบุเงินเดือนต่ำกว่าอัตราที่บริษัทกำหนดไว้ก็ตามเขาก็จะให้ในอัตราที่อยู่ในช่วงตำแหน่งงานนั้นเสมอ (แต่ถ้าใครไปเจอเอาบริษัทที่เอาเปรียบประเภท "มั่วนิ่ม" ก็ถือว่าเคยทำกรรมร่วมกันมาจึงมาถูกเอาเปรียบก็แล้วกันนะครับบริษัทพวกนี้เจอที่ไหนหนีให้ไกล ๆ เลย) แต่ถ้าท่านระบุเงินเดือนไว้สูงเกินไปแล้วท่านไม่มีคุณสมบัติที่เด่นพอก็คงจะยากหน่อยแหละครับ

 
 

         5. เตรียมเอกสารที่ใช้ประกอบการสมัครงานไปให้เรียบร้อย ในเรื่องนี้คงไม่ต้องพูดซ้ำกันแล้วนะครับ

 
 
         6. เซ็นชื่อผู้สมัครเมื่อเสร็จสิ้นการกรอกใบสมัครงาน มีหลายคนนะครับที่ลืมเซ็นชื่อผู้สมัครงานซึ่งแสดงให้เห็นความสะเพร่าของผู้สมัครได้ ดังนั้นอย่าลืมนะครับอย่าลืมเซ็นชื่อ
 
 
        7. ตรวจทานอีกครั้งก่อนส่งใบสมัครงานให้เจ้าหน้าที่
 
 

นี่คงเป็นแนวทางให้สำหรับท่านที่จะต้องกรอกใบสมัครงานได้เตรียมตัวไว้ซึ่งจะช่วยให้ข้อผิดพลาดลดลงได้