ทำไมบัณฑิตจบใหม่จึงตกงาน
ข้อมูลข่าวจาก : - / ผู้ลงประกาศ : สำนักงานจัดหางาน
        หลายคน โยนบาปให้สถาบันการศึกษาโดยตั้งข้อสังเกตว่า สถาบันการศึกษาผลิตบัณฑิตในบางสาขามากเกินความต้องการของตลาดแรงงาน หรือผลิตบัณฑิตไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน แต่ไม่มีใครเคยทำวิจัยถึงแก่นของปัญหาที่แท้จริง ที่ทำให้มันสมองของประเทศเหล่านี้ต้องว่างงานเลย
      รศ. ดร. สมชาย สุขสิริเสรีกุล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พยายามตีโจทย์ปัญหาของประเทศ ในเรื่องการว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย ด้วยการลงไปศึกษาข้อมูลอย่างจริงจังเพื่อค้นหาคำตอบและหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับสถาบันการศึกษาและสถานประกอบการ
การวิจัยเริ่มขึ้นโดยใช้ฐานข้อมูลของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีล่าสุดของทบวงมหาวิทยาลัยเป็นกรอบในการสุ่มตัวอย่างจำนวน 1,988 ตัวอย่าง กระจายไปทุกสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ 19 แห่ง ทุกสาขาวิชา (9 สาขา) โดยการส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์ปรากฏว่า ในจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาที่ตอบแบบสอบถามกลับมา ส่วนใหญ่ระบุสาเหตุของการว่างงานว่า ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของสัญญาว่าจ้าง ซึ่งหลายแห่งทำสัญญาในระยะเวลาที่สั้นมาก อีกประการหนึ่งคือ มีความต้องการเงินเดือนในอัตราที่ค่อนข้างสูง
          เนื่องจากว่าที่ผ่านมาได้ทุ่มเทในการทำคะแนน จีพีเอ ให้อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาที่เรียนอยู่โดยร้อยละ 29.7 ตัดสินใจเลือกงานที่จะทำจากอัตราค่าจ้างหรือเงินเดือนที่สูงเป็นหลัก ร้อยละ 23.4 เลือกงานที่ตนเองชอบ ร้อยละ 22.3 เลือกงานที่มีโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพมากในส่วนของสถาบันการศึกษาวิเคราะห์ได้ว่า อัตราการว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีของคณะ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่คณะได้ผลิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีและค่าใช้จ่ายทั้งหมดของคณะในการผลิตผู้สำเร็จการศึกษายิ่งสถาบันการศึกษาแห่งไหนมีงบประมาณมาก บัณฑิตที่จบไปก็จะมีคุณภาพมากขึ้น เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานด้านสถานประกอบการเพราะสถานประกอบการเอกชนระบุถึงความต้องการผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแตกต่างจากความต้องการของบัณฑิตจบใหม่อย่างสิ้นเชิง นั่นคือสถานประกอบการส่วนใหญ่บอกตรงกันว่า การที่องค์กรหรือบริษัทจะรับพนักงานมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับรายรับในปีนั้นๆ และต้องการผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ที่ผ่านการฝึกงานระหว่างการเรียน ที่สำคัญบริษัทจะเป็นผู้กำหนดอัตราค่าจ้างแรกเข้าเอง

          เปิดวิจัยบัณฑิตใหม่เตะฝุ่น ผลพวงเรียกค่าจ้างสูงสิบลิ่ว
จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาตามระดับการศึกษาและพร้อมที่จะทำงานในปี 2549-2552 (หน่วย : คน)

สาขาวิชา

2549

2550

2551

2552

ช่างอุตสาหกรรม ระดับ ปวช.

21,149

21,560

22,102

21,824

ช่างอุตสาหกรรม ระดับ ปวส.

57,562

58,029

58,580

58,022

ปริญญาตรี

43,124

45,912

48,895

51,706

สูงกว่าปริญญาตรี

4,870

5,185

5,522

5,839

รวม

126,912

130,686

135,099

137,391

ที่มา : สำนักงานพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (2548)


กล่าวโดยสรุป การว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีไม่ได้มีสาเหตุมาจากความไม่สอดคล้องของทักษะพื้นฐานของผู้สำเร็จการศึกษาที่มีอยู่และทักษะพื้นฐานที่สถานประกอบการต้องการอย่างที่เคยเข้าใจกัน แต่การว่างงานมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากความต้องการของผู้สำเร็จการศึกษาและความต้องการของสถานประกอบการเป็นหลัก
สาเหตุประการแรก ผู้สำเร็จการศึกษาได้คาดหวังที่จะได้รับอัตราการเพิ่มเงินเดือนหรือค่าจ้างที่สูงจากการทำงาน
ประการที่สอง ผู้สำเร็จการศึกษาได้งานที่มีสัญญาว่าจ้างที่มีระยะเวลาสั้น
ประการที่สาม ผู้สำเร็จการศึกษามีผลการเรียนต่ำ
(GPA ต่ำ)
ประการที่สี่ สถานประกอบการมีรายรับลดลง
ประการที่ห้า สถานประกอบการกำหนดอัตราเงินเดือนในระดับต่ำสำหรับผู้เริ่มเข้าทำงานใหม่
ประการที่หก ผู้สำเร็จการศึกษาไม่มีการฝึกงานระหว่างการเรียน
ประการที่เจ็ด มีสถานประกอบการที่เก่าแก่จำนวนมาก
ประการที่แปด สถาบันการศึกษามีค่าใช้จ่ายในการผลิตผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีต่ำ
สุดท้าย มีสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่เป็นจำนวนมากในขณะที่มีสถานศึกษาเกิดใหม่มีคณะใหม่มีสิ่งใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น
         

          ดังนั้น สถาบันการศึกษาจึงไม่ได้มีบทบาทโดยตรงกับการว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษา แต่สถาบันการศึกษามีบทบาททางอ้อมกับการว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษาในสองด้าน
การมีค่าใช้จ่ายที่สูงช่วยให้อัตราการว่างงานลดลง เนื่องจากค่าใช้จ่ายเป็นการลงทุนในการเรียนการสอนโดยตรง ทำให้ผู้สำเร็จการศึกษามีศักยภาพที่จะใช้วิชาความรู้ที่เรียนมาได้มากขึ้นในการทำงาน
คณะที่ตั้งใหม่มีหลักสูตรวิชาใหม่ที่ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบันของสถานประกอบการช่วยเพิ่มโอกาสการหางานทำให้กับผู้สำเร็จการศึกษามากกว่าคณะที่เก่าแก่กว่า
รศ.ดร.สมชาย กล่าวเสริม พร้อมชี้ว่าสาเหตุที่ผู้สำเร็จการศึกษาเรียกร้องอัตราค่าจ้างที่สูง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อมูลข่าวสารที่หาได้ง่าย ผู้สำเร็จการศึกษาอาจจะได้ข้อมูลจากคนในครอบครัว จากเว็บไซต์ต่างๆ มีข้อมูลเปรียบเทียบให้เห็นถึงอัตราค่าจ้าง สวัสดิการขององค์กรต่างๆ การตัดสินใจเข้าทำงานกับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง จึงต้องแน่ใจว่าได้สิ่งที่ดีที่สุด
หากองค์กรไหนให้เงินเดือนต่ำ ผู้สำเร็จการศึกษาก็พร้อมที่จะว่างงาน เพื่อโอกาสที่ดีกว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักจะบอกลูกหลานว่า ถ้าทำงานได้ค่าตอบแทนต่ำ เตะฝุ่นอยู่บ้านดีกว่า ซึ่งต่างจากประเทศอินเดีย ทันทีที่ลูกหลานเรียนจบ ผู้ปกครองจะผลักดันให้เข้าทำงานกับองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเงินเดือนเท่าไร ขอให้มีงานทำไว้ก่อน หากรายได้ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ พ่อแม่จะเป็นผู้จุนเจือ หลังจากนั้นค่อยขยับขยายกันอีกครั้ง อัตราการว่างงานในประเทศอินเดียจึงต่ำ แต่เมื่อดูรายได้ของแรงงานยังน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศไทย เพราะระบบคิดที่แตกต่างกัน
เพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี
  รศ.ดร.สมชาย เสนอแนะว่า รัฐบาลควรออกกฎระเบียบให้สถานประกอบการมีสัญญาว่าจ้างบุคลากรที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นระยะเวลาที่แน่นอนและเหมาะสม เช่นเดียวกับหน่วยงานของรัฐที่มีสัญญาว่าจ้างที่แน่นอนชัดเจน อย่างน้อยสักประมาณ 5 ปีในส่วนของสถานบันการศึกษาควรเพิ่มค่าใช้จ่ายในการพัฒนาการเรียนการสอนให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เพิ่มค่า จีพีเอ ก็จะสามารถช่วยลดโอกาสการว่างงานในอนาคตได้ที่สำคัญ รัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการจัดตั้งคณะหรือสาขาวิชาใหม่เพื่อผลิตผู้สำเร็จการศึกษาที่มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ